เด็กดื้อ เอาแต่ใจ ต่อต้านพ่อแม่ พฤติกรรมที่ไม่ควรนิ่งดูดาย

เด็กดื้อ ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย ในเด็กวัย 0 – 6 ปี ถือว่าเป็นการแสดงออกถึงการเติบโตทางจิตใจว่าลูกของคุณกำลังคิดด้วยตัวเอง เรียนรู้ที่จะใช้เหตุผล และตัดสินใจเลือก ในฐานะพ่อแม่คุณควรรู้ให้ทันพัฒนาการของลูกน้อย และเตรียมตัวเตรียมใจรับมือให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยนั้นๆ แต่ถ้าหากปล่อยปะละเลยในการรับมือจัดการที่ดี อาจจะส่งผลให้เด็กกลายเป็น “โรคดื้อต่อต้าน” ในช่วงวัยรุ่นได้

จากผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กอายุ 13-17 ปี ในปี 2559 พบว่าเด็กป่วยเป็น “โรคดื้อต่อต้าน” ร้อยละ 2 หรือมีประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ ในเด็กชายพบร้อยละ 2.3 เด็กหญิงร้อยละ 1.7 โรคนี้เกิดมาจากหลายสาเหตุร่วมกันทั้งตัวเด็กเองที่มีพื้นฐานเป็นเด็กอารมณ์ร้อน และสภาพแวดล้อมเช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี ใช้ความรุนแรง การตั้งกฎระเบียบที่ไม่สม่ำเสมอของพ่อแม่ที่น่าเป็นห่วงพบว่ายังมีพ่อแม่มีความเชื่อผิดๆ คิดว่าเด็กดื้อตามปกติ จึงไม่ได้พาไปรักษา แต่ให้การดูแลตามความเชื่อเช่น

  1. ปล่อยไปตามธรรมชาติ เด็กน่าจะดีขึ้นเอง
  2. ไม่ขัดใจลูก เพราะกลัวลูกจะเครียด กลัวลูกออกจากบ้าน
  3. ลงโทษรุนแรงเพื่อดัดนิสัย
  4. ส่งไปอยู่กับญาติ หรือส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ เพื่อดัดนิสัย

ความเชื่อทั้งหมดนี้ไม่ได้ช่วยให้พฤติกรรมของเด็กดีขึ้น แต่ล้วนทำให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านแย่ลงไปอีก แม้โรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เด็กดีขึ้น คือการปรับแก้พฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กให้น้อยลง ซึ่งครอบครัวมีความสำคัญที่สุด โดยได้รับคำแนะนำจากทีมสหวิชาชีพ ในการปรับลดพฤติกรรมอย่างถูกวิธีและทำให้เด็กหายป่วย ขอให้รีบพาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อตรวจประเมิน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากผลวิเคราะห์เด็กที่เข้ารับบริการ พบว่าเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมเช่นโรคดื้อ เข้ารับการรักษาเพียงร้อยละ 2 ของผู้ป่วยนอกทั้งหมดที่มีเฉลี่ยวันละ30-40 คน สำหรับพฤติกรรมดื้อตามวัยนั้นพบได้ในเด็กปกติช่วงอายุ 2-3 ปี เมื่ออายุมากขึ้นอาการดื้อจะหายไป แต่ในโรคดื้อนี้จะมีการแสดงออกรุนแรงมากขึ้นอารมณ์ไม่ดีต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป ลักษณะอาการเด่นๆ ของเด็กที่เป็นโรคดื้อมี 8 อาการได้แก่

  1. แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา
  2. เถียงหรือชวนผู้ใหญ่ทะเลาะ
  3. ท้าทายและฝ่าฝืนคำสั่งและกฎเกณฑ์บ่อยๆ
  4. ตั้งใจทำให้คนอื่นรำคาญ
  5. โทษหรือโยนความผิดให้คนอื่นบ่อย ๆ
  6. หงุดหงิดและอารมณ์เสียง่าย
  7. โกรธและไม่พอใจบ่อย ๆ
  8. เจ้าคิดเจ้าแค้นอาฆาตพยาบาท

หากผู้ปกครองพบว่าลูกมีอาการที่กล่าวมา ขอให้พาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อบำบัดพฤติกรรม ซึ่งต้องใช้ร่วมกันหลายวิธี ได้แก่ การทำจิตบำบัด ฝึกให้เด็กควบคุมตัวเอง ฝึกให้มีการแสดงออกที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัวหรือที่เรียกว่าครอบครัวบำบัด เพื่อลดความขัดแย้ง เพิ่มการสื่อสารที่เหมาะสมในครอบครัว ฝึกพ่อแม่ให้ปรับพฤติกรรมเด็กอย่างเหมาะสมถูกต้อง รวมทั้งร่วมมือกับครูที่โรงเรียนในการดูแลและช่วยปรับลดพฤติกรรมที่ไม่ดีระหว่างที่เด็กอยู่ในโรงเรียนด้วย

การลงโทษที่ไม่ควรใช้กับเด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน คือการลงโทษด้วยการทุบตีอย่างรุนแรงหรือด่าว่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย รุนแรง เนื่องจากเป็นการเพิ่มความก้าวร้าวให้เด็ก ทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านเพิ่มมากขึ้น และหากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษา เมื่อโตขึ้นเด็กจะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงมากขึ้น ก้าวร้าว เกเร เสี่ยงต่อการเสพและติดสารเสพติดได้ง่าย

เด็กดื้อ มีวิธีรับมือ

  • สอนให้ลูกเป็นเด็กมีเหตุและผล

สาเหตุหนึ่งเพราะลูกไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ถึงห้ามไม่ให้เขาทำนั่น ทำนี่ ถ้าคุณแม่มัวแต่ออกคำสั่งห้ามอย่างเดียว โดยไม่อธิบายเหตุผลให้ลูกเข้าใจ เด็กหลายๆ คนเลยเกิดอาการดื้อต่อต้านไม่ยอมทำตามคำสั่งคุณแม่ท่าเดียว เวลาอยากให้ลูกทำอะไร ลองพูดกับเขาดีๆ แล้วอธิบายเหตุผลของสิ่งนั้นด้วย เช่น ทะเลาะกับน้องแย่งของเล่นกัน ถ้าพี่ผลักน้องแรงๆ คุณแม่ก็ต้องบอกว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ดีอย่างไร ทำให้เกิดผลอะไรตามมา ถ้าเป็นตัวเขาเองแล้วน้องมาผลัก เขาก็ต้องไม่ชอบใจเหมือนกัน

  • อย่าใช้คำว่า “อย่า” เพราะยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ

เด็กหลายๆ คนเกิดอาการต่อต้านมากขึ้น เวลาที่ได้ยินคุณแม่ห้ามให้เขาทำอะไรบ่อยๆ โดยใช้คำว่า “อย่า” เช่น ไม่อยากให้ลูกเสียงดังเวลาอยู่ในร้านอาหาร ก็ให้พูดกับลูกว่าคนทั้งร้านได้ยินความลับหนูหมดแล้วพูดเบาๆ นะลูก หรือเวลาที่ลูกจะออกไปวิ่งเล่นแล้วคุณกลัวว่าจะหกล้ม แทนที่จะพูดว่าอย่าวิ่งก็เปลี่ยนมาพูดว่า “เดินช้าๆ นะคะลูก เดี๋ยวหกล้มเลือดออก ต้องไปหาคุณหมอเย็บแผลนะ” อะไรประมาณนี้เป็นต้นหมดแล้วพูดเบาๆ นะลูก หรือเวลาที่ลูกจะออกไปวิ่งเล่นแล้วคุณกลัวว่าจะหกล้ม แทนที่จะพูดว่าอย่าวิ่งก็เปลี่ยนมาพูดว่า “เดินช้าๆ นะคะลูก เดี๋ยวหกล้มเลือดออก ต้องไปหาคุณหมอเย็บแผลนะ” อะไรประมาณนี้เป็นต้น

  • ชมลูกบ่อยๆ เมื่อเขาทำสิ่งที่ดี

บางครั้งที่เด็กดื้อเพราะต้องการประชดพ่อแม่ ทำนั่นก็ไม่ดี ทำนี่ก็ไม่ได้ เด็กเลยแสดงออกด้วยการทำสิ่งตรงข้ามกับที่คุณแม่หวังไว้ นั่นอาจจะแปลว่าช่วงที่ผ่านมาเวลาลูกทำอะไรคุณแม่ไม่เคยแสดงออกว่าชื่นชมลูกเท่าที่ควร ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาอาจไม่ใช่ลูกที่ดีของพ่อแม่ เลยทำอะไรที่ตรงข้ามไปเลย การพูดชมไม่ต้องรอจนกว่าเขาจะทำสิ่งยิ่งใหญ่ เช่นสอบได้ที่หนึ่ง เป็นตัวแทนของโรงเรียนถือพาน เล่นกีฬาสีชนะ แค่เขาทำการบ้านวันนั้นเสร็จเร็ว หรือไม่ทะเลาะกับน้องแบบทุกวัน กินข้าวหมดจาน คุณแม่ก็ชมเขาได้บ่อยๆ ลูกจะได้รู้สึกว่าเป็นที่รักของคุณแม่ และไม่อยากทำอะไรให้คุณแม่เสียใจ

  • บางอย่างก็ต้องปล่อยให้ลูกลองผิดลองถูกเอง และหัดให้ลูกยอมรับผิดให้เป็น

จริงๆ แล้วเด็กที่เรามองว่าเป็นเด็กดื้อดื้อ ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นเด็กนิสัยไม่ดีไปเสียหมด บางครั้งลูกแค่เป็นเด็กที่ต้องการอิสระ ต้องการแสดงออกในแบบของตัวเอง และมีความคิดของตัวเอง ถ้าเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ขอให้คุณแม่ลองให้โอกาสลูกได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำบ้าง ถึงแม้ว่าเราจะรู้อยู่แล้วว่าลูกตัดสินใจผิด แต่ให้เขาค้นพบว่าเขาผิดด้วยตัวเอง ดีกว่าเราเป็นคนชี้ให้ลูกเห็นเองทุกครั้ง เพราะเด็กบางคนก็ไม่เชื่อคำตอบของเราจนกว่าจะได้ค้นพบด้วยตัวเอง และเมื่อลูกค้นพบว่าตัวเองผิดพลาด ขอเพียงคุณแม่อย่าซ้ำเติมอีกก็พอ บอกลูกว่าไม่เป็นไรนะลูก ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ แต่เราอย่าทำซ้ำแบบเดิมอีก และต้องหัดยอมรับด้วยว่าลูกทำอะไรผิดไป

  • เวลาที่ลูกงอแง ให้เปลี่ยนเรื่องคุยไปเลย

โดยเฉพาะเวลาอยู่นอกบ้าน เด็กบางคนจะดื้อกว่าปกติ ยิ่งห้ามก็ยิ่งเสียงดัง ร้องไห้โหวกเหวกโวยวายเหมือนยิ่งเรียกร้องความสนใจ ถ้าเรายิ่งพูดซ้ำแต่เรื่องเดิมๆ ลูกอาจจะยิ่งเพิ่มดีกรีความดื้อหนักข้อขึ้น วิธีแก้ง่ายๆ คือให้เปลี่ยนเรื่องคุยกับลูกไปเลย ทำเหมือนเหตุการณ์เมื่อสักครู่ไม่ได้เกิดขึ้น เช่น ร้องไห้ งอแง ตื้อให้คุณแม่ซื้อของเล่นอยู่ดีๆ คุณแม่บอกเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง คุณแม่ลองหัวเราะแล้วพูดว่าแม่ไปกินไอศกรีมดีกว่า แล้วทำท่าเดินจากไป หลายๆ คนใช้ได้ผลมาแล้ว

  • ใจเย็นเข้าไว้

ยิ่งคุณแม่มีอารมณ์โกรธมากเท่าไหร่ ลูกก็ยิ่งรู้สึกได้และจะแสดงอาการดื้อมากขึ้นเท่านั้น ขอให้คุณแม่ใจเย็นๆ ใช้น้ำเย็นเข้าลูบ และหลายครั้งก็ต้องใจแข็ง ปล่อยให้ลูกร้องไห้งอแงนานเท่าที่เขาอยากทำ ขอแค่คุณแม่นิ่งไว้ เดี๋ยวเขาก็จะสงบไปเอง

  • การลงโทษ บางครั้งก็จำเป็น

สำหรับเด็กดื้อที่ทำผิดร้ายแรง การลงโทษบ้างเพื่อให้หลาบจำก็ยังต้องมี ไม่อย่างนั้นลูกจะยิ่งรู้สึกว่าการดื้อทำให้ลูกได้ในสิ่งที่อยากได้ และคุณแม่ก็ไม่เคยว่าอะไร ทำให้ลูกคิดไปว่าสิ่งที่ทำนั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง บางครั้งคุณแม่ก็ต้องตัดใจลงโทษเวลาที่ลูกดื้อจนทำให้เกิดความเสียหายผิดพลาด แต่ต้องจบด้วยเหตุและผลให้ลูกเข้าใจว่าทำไมคุณแม่ถึงต้องลงโทษเขา

เด็กดื้อ

เด็กดื้อ เด็กซน มี 10 วิธีปรับพฤติกรรม

โดยทั่วไปธรรมชาติของเด็กวัย 2 – 5 ขวบนี้ยังพูดสื่อสารได้ไม่ดีนัก เด็กจะชอบสำรวจสิ่งแวดล้อม ชอบทำตามหรือเลียนแบบผู้ใหญ่ แม้จะห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง จนดูเหมือนดื้อต่อต้าน นอกจากนี้ยังคิดว่าของทุกอย่างเป็นของตัวเอง หวงของเล่น ไม่รู้จักแบ่งปันสิ่งของ และอารมณ์ก็แปรปรวนง่าย ถ้าไม่ได้อะไรดั่งใจก็อาจจะร้องอาละวาดได้ ผู้เลี้ยงดูเด็กจึงควรมีความเข้าใจพัฒนาการและปัจจัยต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมเด็ก ซึ่งจะช่วยให้การปรับพฤติกรรมเด็กดื้อประสบผลสำเร็จด้วยดี

สาเหตุของพฤติกรรมเด็กดื้อซน

  1. พัฒนาการตามวัยเมื่อเด็กเติบโตเข้าสู่ขวบปีที่สอง เด็กจะเริ่มพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการความเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ และอาจมีลักษณะเป็นเด็กดื้อ ต่อต้านมากขึ้น สังเกตจากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การกิน การนอน การร้องอาละวาด เอาแต่ใจตนเอง เป็นต้น ผู้เลี้ยงดูจึงต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัยนี้และไม่ควรคาดหวังกับเด็กมากเกินไป ควรมีความยืดหยุ่น เลือกใช้วิธีการปรับพฤติกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างสมบูรณ์
  2. พื้นฐานอารมณ์เด็กแต่ละคนจะมีนิสัยหรือพื้นฐานอารมณ์ที่แตกต่างกันไป บางคนเรียบร้อยแต่บางคนกลับค่อนข้างซุกซน เป็นต้น หากพ่อแม่คาดหวังว่าลูกควรจะเรียบร้อย แต่ลูกไม่ได้มีพื้นฐานอารมณ์เป็นดั่งที่คาดหวัง พ่อแม่อาจจะมองว่าลูกซนมากผิดปกติและเกิดความหงุดหงิดกับพฤติกรรมของลูก ทำให้เกิดปัญหาการเลี้ยงดูตามมาได้ ซึ่งพื้นฐานทางอารมณ์นี้เป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด จึงจำเป็นที่ผู้เลี้ยงดูต้องเข้าใจและปรับทัศนคติต่อเด็กและการเลี้ยงดูให้เหมาะสมด้วย
  3. สิ่งแวดล้อมผู้เลี้ยงดูเด็กจำเป็นต้องสำรวจสิ่งแวดล้อมด้วยว่ามีอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นหรือส่งผลต่อพฤติกรรมเด็กหรือไม่ เช่น ในสถานที่เลี้ยงเด็กซึ่งแออัด มีเด็กมากเกินไป หรือมีของเล่นน้อยไม่เพียงพอสำหรับเด็กทุกคน ทำให้เด็กมีโอกาสทะเลาะแย่งของเล่นกันได้บ่อยๆ และเด็กอาจถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อ เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวไป
  4. ความสามารถในการเรียนรู้เด็กทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ แม้ว่าในขณะนี้เด็กอาจจะยังไม่เข้าใจหรือไม่สามารถปฏิบัติตามที่ผู้ใหญ่สอนได้ทุกอย่างก็ตาม หากเราหมั่นสอนเด็กอย่างสม่ำเสมอ เด็กก็จะค่อยๆ เรียนรู้และสามารถปฏิบัติตามได้ในที่สุด ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงไม่ควรบังคับ ต่อว่า หรือเร่งรัดเด็กมากเกินไป
  5. ปัญหาทางอารมณ์จิตใจเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสม ปล่อยปละละเลย ขาดความรัก ความอบอุ่น อาจแยกตัวไม่สนใจใคร หรือก้าวร้าว แย่งของเล่น ทำร้ายผู้อื่นเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ในเด็กกลุ่มนี้นอกจากจะปรับพฤติกรรมแล้ว จำเป็นที่จะต้องแก้ไขสาเหตุคือ การให้ความรักและปรับวิธีการเลี้ยงดูเด็กให้เหมาะสมด้วย ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาซน สมาธิสั้น ซึ่งอาจเกิดจากโรคสมาธิสั้นและส่งผลให้เด็กมีปัญหาการเรียนหรือพฤติกรรมตามมา ดังนั้นพ่อแม่จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาและช่วยเหลือเด็กอย่างเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ความเจ็บป่วยหรือไม่สบายของเด็กต่างๆ ก็สามารถส่งผลต่อปัญหาพฤติกรรมได้เช่นกัน

10 วิธีปรับพฤติกรรมเด็กดื้อ

  1. ปรับสิ่งแวดล้อมผู้เลี้ยงดูควรปรับสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น และจะได้ไม่ต้องเหนื่อยในการห้ามปรามหรือพูดสั่งเด็กบ่อยๆ ว่า“ไม่” “ทำไม่ได้” “อย่านะ” และยังป้องกันการเกิดอารมณ์เสียต่อกัน เช่น การเก็บยา สารเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องแก้ว ของมีคมต่าง ๆ ให้พ้นมือเด็ก เนื่องจากเด็กวัยนี้ชอบปีนป่ายสำรวจสิ่งของอยู่แล้ว หรือจัดสถานที่เล่นให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก เอาของเล่น หรือสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตรายออกไป เป็นต้น
  2. จัดกิจวัตรประจำวันให้สม่ำเสมอเช่น จัดตารางการกิน การนอนให้เป็นเวลา เพื่อช่วยให้เด็กปรับตัวได้ง่ายขึ้น ร่วมมือมากขึ้นในการทำกิจวัตรต่าง ๆ
  3. ตักเตือนใช้คำพูดบอกว่าอะไรถูกผิด เมื่อลูกทำผิดบอกไปตรงๆ ว่าทำแบบนั้นไม่ดีอย่างไร และส่งผลอย่างไร โดยอธิบายให้ชัดเจนที่สุด
  4. เบี่ยงเบนความสนใจเป็นวิธีที่ได้ผลดีในเด็กเล็ก เพราะเด็กยังมีความสนใจ หรือสมาธิค่อนข้างสั้น จึงสามารถใช้วิธีเบี่ยงเบนให้เด็กหันไปสนใจอย่างอื่นแทน เพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการได้ เช่น หากเด็กกำลังเล่นของที่แตกหัก ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ อาจชวนให้เด็กเล่นอย่างอื่นแทน
  5. ชี้แนะโดยการบอกหรือสอนให้เด็กรู้ว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ และหาทางออกให้เด็กรู้ด้วยว่าควรทำอย่างไรแทน เช่น หากเด็กกำลังขีดเขียนเล่นบนหนังสือ ผู้ใหญ่ควรรีบเอาหนังสือออก และบอกเด็กว่า “เขียนบนหนังสือไม่ได้” แล้วหากระดาษหรือสมุดวาดเขียนให้เด็กเขียนหรือวาดรูปแทน เป็นต้น
  6. ไม่สนใจหรือเพิกเฉยใช้เพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ โดยที่พฤติกรรมนั้นต้องไม่เป็นอันตรายต่อตัวเด็กเอง ต่อผู้อื่นหรือสิ่งของ เช่น เมื่อเด็กร้องไห้อาละวาดอยู่ที่พื้นเพราะไม่ได้ดั่งใจ ไม่ควรตามใจเด็ก ควร ปล่อยให้เด็กร้องไปเรื่อยๆ และทำเป็นไม่สนใจ แต่อยู่ในสายตาว่าเด็กปลอดภัยดี สักพักเด็กจะหยุดร้องไปเอง เมื่อเด็กหยุดร้องแล้วถึงจะเข้าไปหาเด็ก พูดคุยถึงวิธีแก้ปัญหาหรือชวนทำกิจกรรมอื่นต่อไป แต่ไม่ใช่เข้าไปโอ๋หรือต่อรองกับเด็ก
  7. การให้ได้รับผลตามธรรมชาติและการให้รับผิดชอบผลของการกระทำจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองต่อไป เช่น หากเด็กไม่ยอมกินข้าว ก็ต้องปล่อยให้เด็กรู้จักความรู้สึกหิว เด็กจะได้ยอมกินอาหารมื้อต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม หากพฤติกรรมใดที่ก่อให้เกิดผลตามธรรมชาติที่รุนแรง ก็ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น ต้องหยุดพฤติกรรมนั้นทันที เช่น หากเด็กจะปีนป่ายที่สูงแล้วอาจตกลงมาศีรษะแตกหรือขาหัก เป็นต้น
  8. การเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็กอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น เด็กวัยนี้ชอบเลียนแบบพฤติกรรมผู้ใหญ่อยู่แล้ว การที่ผู้ใหญ่หรือคนในบ้านแสดงพฤติกรรมที่ดีอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าเด็กอาจจะยังไม่เข้าใจเหตุผลของการกระทำทั้งหมดก็ตาม แต่เด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้และซึมซับว่าการที่ผู้ใหญ่ทำพฤติกรรมดังกล่าวนั้น เป็นสิ่งที่สมควรทำตามและเป็นที่ยอมรับ เช่น การที่ผู้ใหญ่เล่นกับสัตว์เลี้ยงที่บ้านอย่างนุ่มนวล การพูดคุยในบ้านด้วยถ้อยคำที่สุภาพ การเข้านอนหรือทานอาหารเป็นเวลา เป็นต้น
  9. การให้แรงเสริมทางบวกคือการให้คำชมเชยผ่านทางคำพูดหรือการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง เช่น การโอบกอด ลูบศีรษะ การชมเด็กควรทำด้วยความจริงใจและเจาะจงกับพฤติกรรมที่เด็กทำด้วย เด็กจะได้รู้ว่าผู้ใหญ่ให้ความสนใจกับเรื่องอะไร เด็กจะเรียนรู้และพยายามทำพฤติกรรมนั้นต่อ ระมัดระวังการพูดเสียดสีหรือเปรียบเทียบเด็กกับผู้อื่นในขณะที่ชมเด็กด้วย

ตัวอย่างคำชมที่ถูกต้อง เช่น “ลูกโอ๋เก่งมากเลยที่เล่นเสร็จแล้วเก็บของเข้ากล่องได้เรียบร้อย แม่ภูมิใจในตัวหนูมาก” “บอยยอดเยี่ยมมาก วันนี้กินข้าวเองหมดจานเลย”

ตัวอย่างคำชมที่ไม่เหมาะสม เช่น “ลูกเก่งมากที่กินข้าวหมดจาน แต่วันหลังกินอย่าให้หกเลอะเทอะอย่างนี้นะ” “บีเขียนหนังสือสวยขึ้นเยอะเลย หัดเขียนให้สวยๆ นะจะได้เก่งเหมือนพี่เอ”

  1. การลงโทษ (Punishment) โดยทั่วไปไม่ควรใช้การลงโทษเป็นวิธีแรกหรือบ่อย ๆ เพราะจะทำให้เด็กไม่เข้าใจ เสียความสัมพันธ์ต่อกันได้ ควรเลือกใช้วิธีลงโทษเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่รุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องหยุดพฤติกรรมนั้นทันที หรืออาจเคยใช้วิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล การลงโทษอย่างรุนแรงบ่อย ๆ โดยไม่มีเหตุผล นอกจากจะไม่ช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการทางบุคลิกภาพและจิตใจของเด็กด้วย การลงโทษไม่จำเป็นต้องเป็นการดุว่า ตำหนิ หรือ การตีเสมอไป อาจใช้วิธีอื่น ๆ แทนได้ เช่น การตัดสิทธิหรือรางวัล การจำกัดหรือกักบริเวณ การให้ออกกำลังกายเพิ่ม เป็นต้น

โดยสรุปการปรับพฤติกรรมเด็กให้ได้ผลนั้น นอกจากจะต้องเข้าใจพัฒนาการตามวัยของเด็กแล้ว ผู้เลี้ยงดูจะต้องให้ความรัก ความเมตตาต่อเด็ก ปฏิบัติต่อเด็กอย่างสม่ำเสมอด้วยท่าทีที่หนักแน่นจริงจัง รู้วิธีการสื่อสารกับเด็กอย่างถูกต้อง และที่สำคัญ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในบ้านแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งถอนใจ ยากหรือไม่อยู่ที่ก้าวแรกของการเริ่ม 

ที่มา

https://www.camri.go.th/

https://www.paolohospital.com/

https://www.rakluke.com/child

https://www.pexels.com/th-th/photo/4720383/

https://www.pexels.com/th-th/photo/4720368/

 

ติดตามอ่านเรื่องเกี่ยวกับเด็กได้ที่  harigamiya.com