จอประสาทตาเสื่อม สามารถรักษาได้

จอประสาทตาเสื่อม คือโรคที่เกิดจากจอประสาทตาในลูกตาเสื่อมสภาพ จนไม่สามารถรับภาพได้ดีเท่าเดิม โรคจอประสาทตาเสื่อมนี้จะทำให้การมองเห็นแย่ลงเรื่อยๆ มองภาพบิดเบี้ยว มองเห็นสีได้น้อยลง การมองเห็นช่วงกลางภาพหายไป เมื่อถึงจุดหนึ่งจะสูญเสียการมองเห็นส่วนใหญ่ไปในที่สุด

จอประสาทตาเสื่อมมักจะเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคมาจากความเสื่อมของอวัยวะตามอายุ บางครั้งจึงเรียกโรคจอประสาทตาเสื่อมที่มักเกิดในผู้สูงอายุว่า Age – Related Macular Degeneration หรือที่เรียกว่า AMD นั่นเอง ผู้ป่วยโรคนี้มักรู้ตัวช้า เนื่องจากในผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการของโรคจะค่อยๆ เกิด บางครั้งก็เกิดขึ้นกับดวงตาเพียงข้าง เมื่อผู้ป่วยใช้ดวงตาสองข้างในการมองจึงไม่ทราบว่าภาพการมองเห็นของตนกำลังผิดเพี้ยนไป

จอประสาทตาเสื่อม แบ่งเป็น 2 ชนิด

1. จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD)

จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry Age – Related Macular Degeneration หรือ Dry AMD) คือโรคจอประสาทตาเสื่อมที่เกิดจากตัวเซลล์ในจอประสาทตาเสื่อมสภาพและจอตาบางลงเองตามอายุการใช้งานเมื่อมีอายุมากขึ้น พบได้มากถึง 85 – 90% ของผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด

อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งจะค่อยๆแสดงออกมา ผู้ป่วยจะเริ่มมองไม่เห็นในที่มืด จำหน้าคนรู้จักไม่ได้ ภาพที่เห็นเริ่มเบลอ เบี้ยวผิดรูป และการมองเห็นจะแย่ลงเรื่อยๆ หากไม่ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม และในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาจอประสาทตาเสื่อมชนิดนี้ให้หายขาดอีกด้วย

2. จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD)

จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet Age – Related Macular Degeneration หรือ Wet AMD) คือโรคจอประสาทตาเสื่อมอันเกิดจากเส้นเลือดที่ผิดปกติภายในจอตา เมื่อเส้นเลือดที่ผิดปกตินั้นแตกออก เลือดและของเหลวในเลือดจะไหลออกและคั่งอยู่ในบริเวณจอประสาทตา ทำให้บริเวณนั้นบวมผิดปกติจนการรับภาพของจอประสาทตาผิดเพี้ยนไปจากเดิม

จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกพบได้เพียง 10 – 15% เท่านั้น และมักเป็นความผิดปกติที่เป็นผลมาจากพันธุกรรม ดังนั้นแม้จะเป็นรูปแบบที่พบได้น้อย แต่มักจะพบได้ในผู้ป่วยที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกมาก่อน โดยที่จอประสาทตาเสื่อมชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นมาได้เองทันที หรือสามารถเกิดต่อเนื่องหลังเป็นจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งก็ได้

จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกนี้ อาการจะรุนแรงมากกว่าชนิดแห้ง อาการจะเกิดขึ้นเร็วและผู้ป่วยสามารถสูญเสียการมองเห็นส่วนใหญ่ไปภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ และมีโอกาสที่จะทำให้สูญเสียการมองเห็นทั้งหมดด้วย

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าจอประสาทตาเสื่อมเกิดจากอะไร แต่ผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมมักจะมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน ดังนี้

  1. อายุ จอประสาทตาเสื่อมพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  2. คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อมมีโอกาสที่จะส่งต่อทางพันธุกรรมได้ทั้งชนิดแห้งและชนิดเปียก คนในครอบครัวของผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่าคนทั่วไป
  3. เชื้อชาติ จอประสาทตาเสื่อมจะพบในคนเชื้อชาติคอเคเซียน (Caucasians) หรือที่เรียกว่าคนผิวขาว ได้มากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ
  4. การสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้มาก
  5. โรคเบาหวาน มักทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจอประสามตาเสื่อมชนิดเปียกได้มาก
  6. โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่เกี่ยวกับความดันโลหิด และไขมันในเลือด ซึ่งปัจจัยทั้งสองอย่างเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกได้มากเช่นเดียวกัน

สิ่งหนึ่งที่ผู้คนเข้าใจผิดอย่างมากเกี่ยวกับโรคจอประสาทตาเสื่อม คือการใช้สายตามากไป อย่างการเล่นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแสงยูวีจากแดด ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เลย แม้การใช้สายตามากเกินไป หรือรังสียูวีในแสงแดดจะทำให้เกิดโรคต้อ หรือโรคอื่นๆกับดวงตาได้ แต่ไม่ได้มีผลทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้แต่อย่างใด

สาเหตุและอาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม 

โดยปกติแล้ว จอประสาทตา (Macula หรือ Macula lutea) เป็นกลุ่มของเซลล์ในพื้นที่หนึ่งของจอตา (Retina) จอประสาทตาจะมีหน้าที่ทำให้คนเรามองจุดโฟกัสกลางสายตาชัดกว่าภาพการมองเห็นในส่วนอื่นๆ

อย่างเช่นเวลาอ่านหนังสือ ผู้อ่านจะอ่านออกแค่ตัวหนังสือในบริเวณกลางภาพในตำแหน่งที่เรามองไปเท่านั้น เราอาจจะอ่านคำที่อยู่ติดกันได้ แต่ไม่สามารถอ่านคำที่ห่างออกไปมากกว่านั้นได้ เนื่องจากภาพตัวหนังสือที่อยู่รอบๆจะไม่ชัดเท่าตรงกลางนั้นเอง

ดังนั้นเมื่อจอประสาทตาเสื่อมสภาพลง จะทำให้ภาพการมองเห็นมีผลกับตรงกลางภาพมากกว่าส่วนอื่นๆของภาพนั่นเอง

แล้วจอประสาทตาเสื่อม เกิดจากอะไร? ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าปัจจัยใดทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อม แต่จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งส่วนใหญ่เกิดจากอายุที่มากขึ้น เซลล์ที่ตอบสนองต่อแสงในจอประสาทตาค่อยๆเสื่อมสภาพและหายไปอย่างช้าๆ หรือเยื่อหุ้มในชั้นที่อยู่ใกล้จอตาค่อยๆบางลงจนมีผลต่อจอประสาทตา ทำให้ภาพการมองเห็นส่วนกลางภาพค่อยๆแย่ลงนั่นเอง

ส่วนจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกนี้ คาดว่าส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรมที่เมื่อถึงอายุหนึ่งเส้นเลือดที่ผิดปกติหลังจอตาจะบวมหรือแตกออก ทำให้เกิดเลือดคั่งจนดันให้จอตา (Retina) บวมมากกว่าปกติจนส่งผลต่อจอประสาทตา (Macula) ทำให้เกิดจุดบอดตรงกลางภาพได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง

จอประสาทตาเสื่อม

อาการจอประสาทตาเสื่อม โดยทั่วไปมีดังนี้

  • การมองเห็นแย่ลง โดยเฉพาะส่วนกลางภาพ จะเห็นเป็นภาพเบลอหรือเห็นเป็นสีเทาดำมืดไปเลย อาจจะเกิดขึ้นกับตาข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้
  • ภาพการมองเห็นบิดเบี้ยวผิดรูป
  • ต้องใช้แสงสว่างมากกว่าปกติเพื่อให้มองเห็นชัด และมองเห็นได้น้อยลงเมื่ออยู่ในที่แสงน้อย
  • ต้องใช้แสงมากขึ้นเพื่อมองเห็นสี โดยปกติแล้วหากอยู่ในที่มืดดวงตาคนเราจะเห็นภาพเป็นสีขาวดำ เมื่อมีแสงสว่างประมาณหนึ่งจึงจะเห็นสี แต่ผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมจะต้องใช้แสงสว่างมากกว่าคนทั่วไปในการมองเห็นสีนั่นเอง
  • แยกใบหน้าได้น้อยลง เนื่องจากภาพการมองเห็นไม่ชัดเท่าเดิม
  • อ่านหนังสือยากขึ้น

สัญญาณเตือนและแนวทางการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม

อาการเริ่มต้นของแต่ละชนิดนั้นต่างกัน หากเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกจะสามารถสังเกตอาการได้ง่ายกว่า เนื่องจากอาการจะรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ในโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งนั้น ในช่วงแรงผู้ป่วยจะสังเกตอาการได้ยากมาก หรือในบางรายจะไม่แสดงอาการเลย แต่สามารถตรวจพบได้หากเข้าพบกับจักษุแพทย์

ในกรณีที่โรคแสดงอาการ โรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งจะทำให้ผู้ป่วยเริ่มเห็นภาพมัวลง ไม่ชัดเท่าเดิม เส้นที่เคยเห็นเป็นเส้นตรงจะดูเบี้ยวและคดเคี้ยวมากขึ้น เมื่อเริ่มเป็นหนักขึ้นช่วงกลางภาพการมองเห็น จะเป็นสีเทาหรือสีดำ ซึ่งเป็นการสูญเสียการมองเห็นไปบางส่วนนั่นเอง

จอประสาทตาเสื่อม รักษาด้วยวิธีการที่แตกต่างกันตามชนิดของโรค หากเป็นจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้เพื่อไม่ให้โรคลุกลามมากกว่าเดิม และไม่ให้พัฒนาไปเป็นจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกที่อันตรายกว่า

โดยแนวทางการดูแลตนเองเพื่อป้องกันการลุกลามของโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งที่แพทย์แนะนำ มีดังนี้

  1. มาตามนัดติดตามผลของจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากอาการแย่ลงจะได้รักษาได้ทัน
  2. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะการมองเห็นที่เสียไปแล้วไม่สามารถรักษาให้กลับเป็นแบบเดิมได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีวินัยอย่างมาก
  3. งดสูบบุหรี่
  4. ควบคุมโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการดูแลตัวเองและทำตามคำแนะนำของแพทย์อยู่เสมอ
  5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่ช่วยชะลอจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่อาหารที่มีส่วนประกอบของวิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน แร่ธาตุสังกะสี ทองแดง และลูทีน ซึ่งพบได้ในผักผลไม้ และจะพบมากในผักใบเขียว หากไม่สามารถทานผักผลไม้เป็นประจำ สามารถทานเป็นอาหารเสริมแทนได้ แต่ก็ไม่ควรทานเยอะจนเกินไป

ในกรณีที่สูญเสียการมองเห็นส่วนกลางภาพไปแล้ว จะมีวิธีรักษาที่เรียกว่า The implantable miniature telescope (IMT) เป็นการรักษาโดยการผ่าตัดใส่กล้องโทรทัศน์ขนาดเล็กเข้าไปที่ดวงตา เพื่อเปลี่ยนจุดรับแสงที่เป็นจุดโฟกัสกลางภาพ จากจอประสาทตาที่เสียหายไปแล้ว เป็นจอตาในส่วนอื่นๆที่ยังสุขภาพดีอยู่ เพื่อให้การมองเห็นกลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงกับปกติ

แต่การรักษานี้มีข้อจำกัดหลายอย่าง ผู้เข้ารับการรักษาต้องอายุ 75 ปีขึ้นไป เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งที่อาการหนัก ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการอื่นได้อีก และต้องไม่เคยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาในการรักษาโรคต้อกระจกมาก่อน

ส่วนในผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการดังนี้

  • การฉายแสงเลเซอร์ 

การฉายเลเซอร์เพื่อรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกมี 2 วิธี ได้แก่

  1. Laser Photocoagulation วิธีการฉายเลเซอร์แบบนี้ จะใช้เลเซอร์พลังงานสูงยิงเข้าที่จอตาในส่วนที่มีเส้นเลือดผิดปกติ ความร้อนของเลเซอร์จะทำให้เลือดไม่ไหลออกจากเส้นเลือด หรือทำให้เลือดออกช้าลง สามารถชะลออาการของโรคได้ แต่วิธีการนี้มีข้อเสียคือความร้อนของเลเซอร์จะทำให้จอตาบางส่วนถูกทำลายไปด้วย ผู้ป่วยจะเกิดจุดมืดที่บางตำแหน่งของการมองเห็นอย่างถาวร
  2. Photodynamic Therapy หรือ PDT เป็นวิธีการรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ร่วมกับการใช้ยา โดยแพทย์จะฉีดยาดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย เมื่อยาไปจับบนเส้นเลือดผิดปกติที่ดวงตาแล้ว แพทย์จะยิงเลเซอร์เข้าไปในบริเวณจอตา ตัวเลเซอร์จะไปกระตุ้นตัวยาให้ออกฤทธิ์ ทำให้เส้นเลือดที่ผิดปกติอุดตันและฝ่อไปในที่สุด การรักษาด้วยวิธีนี้ตัวยาและเลเซอร์จะออกฤทธิ์เฉพาะที่ทำให้หลังการรักษาจอตาไม่ถูกทำลายไปด้วยเหมือนกับวิธีแรก แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือตัวยาที่ฉีดเข้าร่างกายอาจทำให้เกิดอันตรายกับดวงตาหากถูกแสงโดยตรงในช่วงแรก และอาจจะมีผลข้างเคียงทำให้ปวดหลังหรือร่างกายส่วนอื่นๆ ได้
  • การฉีดยาในกลุ่ม Anti-VEGF

ยา Anti – VEGF หรือ Anti – Vascular Endothelial Growth Factor เป็นยาสำหรับฉีดโดยแพทย์ ช่วยให้เส้นเลือดผิดปกติที่เป็นต้นเหตุของโรคฝ่อไป แพทย์จะฉีดยานี้เข้าที่ตาขาว เพื่อให้ตัวยาเข้าไปที่น้ำเลี้ยงในลูกตา และไปออกฤทธิ์ที่เส้นเลือดผิดปกติโดยตรง เป็นวิธีรักษาที่ต้นเหตุ เห็นผลเร็ว และผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้สึกเจ็บขณะฉีดยา แต่วิธีการนี้มีข้อเสียเช่นกัน คือผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์บ่อย ช่วงแรกๆอาจจะต้องมาพบแพทย์เพื่อฉีดยาประมาณเดือนละ 3 ครั้ง เมื่อเวลาผ่านไปอาจจะลดจำนวนลงโดยแพทย์จะดูตามอาการอีกครั้งหนึ่ง

  • การผ่าตัดรักษาจอประสาทตาเสื่อม

การผ่าตัดรักษาจอประสาทตาเสื่อมจะเป็นการผ่าตัดเพื่อนำเส้นเลือดที่ผิดปกติ หรือนำเลือดที่คั่งอยู่หลังจอตาออกไป โดยวิธีการนี้เป็นวิธีการรักษาที่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก เนื่องจากเป็นการรักษาที่ไม่เห็นผลเท่าที่ควร

ผู้ป่วยแต่ละรายต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีใดนั้น จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของจักษุแพทย์เจ้าของไข้ ส่วนอาการหลังการรักษาก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดใด และเป็นในระยะใด หากเป็นจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง จะยังไม่มีวิธีรักษา อาการหลังปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จะไม่ได้หายขาดหรือการมองเห็นดีขึ้น แต่จะช่วยไม่ให้สายตาแย่ลงกว่าเดิม

ส่วนผลการรักษาหลังจากเข้ารับการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกนั้น หากอาการก่อนการรักษาไม่หนักมาก ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมามีสายตาที่ปกติหรือใกล้เคียงกับปกติได้ แต่ถ้าอาการแย่อยู่แล้วตั้งแต่ต้น หลังการรักษาอาการจะไม่ได้ดีขึ้นมากนัก แต่ก็จะไม่แย่ลงไปกว่าเดิม ทั้งนี้ผลการรักษาขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย

วิธีป้องกันจอประสาทตาเสื่อม

วิธีการป้องกันจอประสาทตาเสื่อมนั้น คล้ายกับการรักษาจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง คือต้องงดสูบบุหรี่ ควบคุมโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดจอประสาทตาเสื่อม และทานอาหารที่มีประโยชน์ หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ควรเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจดวงตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และควรทานอาหารที่มีส่วนประกอบของวิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน แร่ธาตุสังกะสี ทองแดง และลูทีน เพื่อป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะเป็นการดีที่สุด

จอประสาทตาเสื่อมส่วนใหญ่เป็นโรคที่รักษาไม่ได้ ทำได้แค่ชะลอให้เกิดช้าลง เพื่อให้ใช้งานดวงตาได้นานขึ้นเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่รู้ตัวว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้อื่นๆให้มากที่สุด เพราะหากสูญเสียการมองเห็นบางส่วนไปแล้ว ก็จะเสียไปเลย ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือแก้ไขได้ยาก การใช้ชีวิตประจำวันก็จะยากขึ้นมากอีกด้วย

ที่มา

 

ติตดามอ่านเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพได้ที่  harigamiya.com

สนับสนุนโดย  ufabet369.net